วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประเพณีตักบาตรเทโว(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีตักบาตรเทโว

36_20121024130859.
ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดการอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือนของภิกษุสงฆ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้พอดี  ในทุกๆ ปี พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญ จะร่วมกันทำบุญตักบาตรโดยจัดพิธีเป็นพิเศษกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป เรียกการตักบาตรครั้งนี้ว่า ตักบาตรเทโว  หรือการถวายบาตรพระภิกษุเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นการทำบุญทำกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ บิดามารดา ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวรและเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว
คำว่า เทโว  มาจากคำว่า เทโวโรหณะ หมายถึงการเสด็จลงมาจากเทวโลกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุการณ์หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงออกประกาศพระศาสนาไปทั่วชมพูทวีป เสด็จไปโปรดเทศนาพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายจนได้ดวงตาเห็นธรรมตามสมควร คงเหลือแต่พระนางสิริมหามายา พุทธมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปหลังจากที่มีพระประสูติกาลได้ ๗ วัน องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงดำริจะที่จะขึ้นไปเทศนาแสดงธรรมโปรดแด่พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเป็นการสนองพระคุณ เป็นเวลา ๑ พรรษา ในพรรษาที่ ๗ หลังจากที่ทรงตรัสรู้ และเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษยในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เมื่อเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปีศาจ อสูรกาย ประชาชนทราบข่าวการเสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ จึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ รออยู่ที่เชิงบันไดเพื่อถวายบาตรแด่พระองค์กันอย่างเนื่องแน่น
163993
วัดแต่ละวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปที่คนในชุมชนเคารพนับถือขึ้นประดิษฐานบุษบก พร้อมกับวางบาตรไว้ด้านหน้า จัดเป็นขบวนแห่นำหน้าแถวพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เพื่อรับบาตรจากญาติโยมทั้งหลาย บางวัดที่มีพระพุทธบาทจำลองอยู่บนเขา พระภิกษุสงฆ์จะเดินลงมาตามบันไดเชิงขาเพื่อรับบาตร เสมือนเหตการณ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาทางบันไดเชิงเขา
มีการจัดถวายภัตตาหารคาวหวาน ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกบัว ข้าวต้มโยน เนื่องจากในครั้งสมัยพุทธกาล มีประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นจำนวนมากทำให้ไม่สามารถใส่บาตรถึงตัวพระองค์ได้ จึงพากันอธิษฐานแล้วใส่บาตรแทน ซึ่งด้วยศรัทธาตั้งใจจริงทำให้อาหารที่โยนมานั้นตกลงในบาตรของพระพุทธองค์ได้พอเหมาะพอดี
img03342-20111013-1535
นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่กล่าวถึงในพุทธประวัติสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย นั่นคือ ข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) หรือข้าวที่กวนกับน้ำผึ้ง  โดยข้าวทิพย์นี้จะประกอบพิธีกวนขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนวันออกพรรษา ๑ วัน โดยจะต้องให้เด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน ๔ คน นุ่งขาว ห่มขาว ทำหน้าที่กวนข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์นี้ตามตำนานความเชื่อกล่าวไว้ว่า นางสุชาดาคือผู้ริเริ่มการปรุงข้าวมธุปายาสมาถวายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปีศาจ อสูรกาย ได้รวมตัวกันประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อแจกจ่ายให้ได้นำไปถวายบาตรแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนและวัดที่จะรวมกันจัดพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อใช้ในการตักบาตรในวันตักบาตรเทโวนั่นเอง

ประเพณีไหลเรือไฟ(ภาคอีสาน)

ประเพณีภาคอีสาน

ประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไทย ประเพณีไหลเรือไฟ
ประเพณีไหลเรือไฟ งานไหลเรือไฟออกพรรษา
ในคืนวันออกพรรษา จังหวัดทางภาคอีสานที่ติดกับลุ่มน้ำมูล ชี และโขง จะมีประเพณีการปล่อยเรือไฟไหลไปตามลำน้ำ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในชื่อว่า ประเพณีไหลเรือไฟ หรือในภาษาถิ่นจะเรียกว่า เฮือไฟ  โดยจะจัดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ของทุกปี นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนานของชาวบ้านแล้ว ยังเแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเดียวกันอีกด้วย 
ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการไหลเรือไฟคล้ายๆ กัน นั่นคือ การไหลเรือไฟเพื่อเป็นการสักการะบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชารอยพระพุทธบาท บวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การขอขมาแม่พระคงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลอง  บรวงสรวงต่อพญานาค บางแห่งเชื่อว่าการไหลเรือไฟเป็นการสะเดาะเคราห์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากตนเองและครอบครัว บ้างก็เชื่อว่าการไหลเรือไฟจะทำให้ปีต่อๆ ไปฝนตกต้องตามฤดูกาล ด้วยเหตุนี้ สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านก็จะร่วมกันสร้างเรือไฟขึ้นมาสำหรับหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองก่อนจะนำมารวมกันที่ลำน้ำ
ประเพณีไหลเรือไฟ เรือประกอบไปด้วยไม้ไผ่ กับผ้าชุบน้ำมันยาง
เรือไฟเป็นไม้ไผ่อันเล็กๆ มัดให้เป็นลายตามที่ต้องการ แล้วใช้ผ้าเก่าๆ มาฉีกเป็นริ้ว ชุบน้ำมันยาง
เรือไฟที่ใช้จะเป็นเรือที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นจากต้นกล้วยและไม้ไผ่ เรือจะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนทุ่นหรือส่วนที่ลอยน้ำได้จะใช้ไม้ที่ลอยน้ำได้มาผูกเป็นแพ  กับส่วนที่ขึ้นโครงเป็นแผงผูกขี้ไต้ น้ำมันยางชุบเศษผ้า หรือเชื้อไฟให้เป็นรูปร่างต่างๆ  โดยมากแล้วรูปร่างหรือลวดลายที่ทำออกมาก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาหรือพุทธประวัติ  มีการนำของกิน ของใช้ เสื้อผ้า ขนม ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย หมากพลู บุหรี่มาใส่ไว้ในเรือ พร้อมกับนำดอกไม้ ธูป เทียน มีการตัดเล็บ ตัดผมใส่ลงไปด้วยเพื่อเป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศกไปด้วย เมื่อจุดไฟที่แผงดังกล่าว เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงที่ผูกขึ้น ก่อนจะจุดไฟและปล่อยเรือล่องไปตามแม่น้ำ
ก่อนที่จะถึงเวลาปล่อยเรือล่องไปตามลำน้ำในช่วงกลางคืน  ในช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะแห่ขบวนเรือของแต่ละหมู่บ้าน (เรียกกันว่าคุ้ม) ไปรวมกันที่กลางหมู่บ้าน และประกวดขบวนเรือกัน ตอนค่ำจะมีพิธีพราหมณ์หรือพิธีสงฆ์มาเป็นผู้นำกล่าวบทสวด และนำเรือมาปักธูปเทียน ดอกไม้ แล้วนำไปปล่อยลอยที่แม่น้ำ
ปัจจุบันประเพณีไหลเรือไฟเริ่มที่จะมีการประกวดประขันกันในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ลวดลายบนเรือไฟกันมากขึ้น  มีลูกเล่นแปลกตามาเรียกคะแนนผู้ชม ปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้เพื่อให้ลอยน้ำและจุดไฟได้นานขึ้น เช่น การหันมาใช้เรือจริงๆ แทนต้นกล้วย ใช้ผ้าชุบน้ำมันเชื้อเพลิงแทนการใช้น้ำมันยางแบบสมัยก่อน
ประเพณีไหลเรือไฟ จัดช่วงออกพรรษาทางภาคอีสาน

ประเพณีลอยกระทง(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทง
คนไทยเราผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สายน้ำเป็นทั้งแหล่งบริโภค อุปโภค การเพาะปลูก ประกอบกับคนไทยในอดีตจะตั้งบ้านเรือนใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ ทำให้คนไทยผูกพันกับสายน้ำอย่างแยกไม่ออก และเป็นที่มาของคติความเชื่อเกี่ยวกับสายน้ำหลายประการด้วยกัน
ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คืนที่พระจันทร์สว่างเต็มดวง สายน้ำหลากปริ่มตลิ่ง พร้อมกับแสงเทียนจากกระทงประดับดอกไม้ ธูปเทียนสว่างไสวอยู่ตามลำน้ำ เป็นช่วงเวลาของประเพณีสำคัญของสายน้ำอีกประเพณีหนึ่ง ประเพณีลอยกระทง
เนื่องด้วยประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่า คติความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ จึงแตกต่างกันไป
แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงหลายความเชื่อ อาทิ การลอยกระทงเป็นพิธีรับเสด็จพระพุทธองค์กลับลงมาจากสวรรค์หลังเสด็จไปโปรดพุทธมารดา บูชารอยพระพุทธบาท บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  บางก็เชื่อว่าบูชาพระอุปคุตเถระ หรือเป็นการบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อ แสดงความขอบคุณแม่พระคงคาที่ให้น้ำแก่มนุษย์ได้ดื่มกิน อุปโภค บริโภคและขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป หรือบางแห่งก็เชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศกทิ้งไป ดังจะเห็นได้จากที่มักจะมีการตัดเศษผม เศษเล็กใส่ไปกับกระทงด้วย
จะเห็นว่าแต่ละคติความเชื่อที่กล่าวมาต่างก็มีจุดประสงค์คล้ายกัน คือ การแสดงเคารพ ความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ พระพุทธเจ้า เทพเจ้า แม่พระคงคา บรรพชน  แม้แต่ธรรมชาติ  และแสดงความระลึกถึงด้วยสิ่งสักการะดอกไม้ ธูปเทียน
กระทง
ส่วนที่ว่าทำไมกระทงจะต้องเป็นรูปดอกบัว เนื่องจากประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาครั้งโบราณแต่ไม่ปรากฏว่าเริ่มมาแต่เมื่อไหร่ ที่พอใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้คือหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษร์หรือตำนานนางนพมาศ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วงแห่งสุโขทัย จะเสด็จประพาสทางน้ำ มีรับสั่งให้พระสนมนางในทั้งหลายประดิษฐ์กระทงดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยหน้าพระที่นั่ง  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จึงประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น เนื่องจากเป็นดอกบัวที่บานในเวลากลางคืนและบานแค่ปีละครั้ง ควรค่าแต่งเป็นกระทงลอยเพื่อไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท   พระมหาธรรมราชาลิไทยจึงทรงมีพระราชดำรัสให้ กษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะต้องเสด็จมาลอยโคมดอกบัวเพื่อถวายสักการะต่อพระพุทธบาทสืบไป ด้วยเหตุนี้ กระทงที่ใช้ลอยจึงมีหน้าตาคล้ายดอกบัวนั่นเอง
ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไปบ้าง แต่ยังคงรูปแบบประเพณีดั่งเดิมไว้ จากเดิมที่กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้รอบตัว เช่น หยวกกล้วย หรือดอกบัว มาในยุคหนึ่งกระทงได้กลายเป็นกระทงโฟมซึ่งหลังจากลอยไปแล้ว กระทงโฟมไม่ย่อยสลายได้เอง กลายเป็นขยะตามแม่น้ำลำคลอง สร้างปัญหาขยะ ต่อมาจึงมีการรณรงค์ให้กลับมาใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น กระทงขนมปังที่สามารถกลายเป็นอาหารของปลาได้

ประเพณีสารทเดือนสิบ(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีสารทเดือนสิบ

1351060723
ประเพณีสารทไทยหรือประเพณีทำบุญเดือนสิบทางภาคใต้โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีงานหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ชาวนครศรีธรรมราช จะเดินเข้าวัดทำบุญเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันแรม ๑๓ – ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ

และที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวนครฯ ก็คือ gopในการทำบุญจะต้องมีขนมสำคัญ ๕ อย่างรวมอยู่ด้วย ซึ่งขนมสำคัญ ๕ อย่างที่ว่านั้นยังแฝงนัยยะสำคัญอะไรบ้างอย่างไว้ด้วย
–  ขนมลา เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของเสื้อผ้าที่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วใช้นุ่งห่ม
–  ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เปรียบได้กับเครื่องประดับที่บรรพบุรุษนำไปประดับตกแต่งร่างกาย
–  ขนมพอง ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่าเสมือนแพพาหนะให้บรรพบุรุษใช้ข้ามวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด
–  ขนมบ้า เปรียบเทียบได้กับเมล็ดสะบ้า ที่บรรพบุรุษเอาไว้เล่นสะบ้าในเทศกาลตรุษสงกรานต์
–  ขนมดีซำ หมายถึงเงินทองที่บรรพบุรุษสามารถนำไปใช้ในโลกหน้าได้
 5-18-7-57
เดิมทีประเพณีสารทเดือนสิบนี้เป็นของพราหมณ์มาก่อน เมื่ออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาในหมู่คนไทยทางภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธ  ด้วยเห็นว่าความเชื่อนี้ของพรหมณ์เป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูที่ลูกหลานสมควรมีให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  และยังเป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องที่แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวในที่ห่างไกลจะได้กลับมาพบหน้ากัน กระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ชาวนครศรีธรรมราชยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก เปรตที่ต้องถูกจองจำให้ชดใช้เวรกรรมในนรก จะได้รับอิสรภาพเป็นการชั่วคราวให้ขึ้นมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน ด้วยเหตุนี้ ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะพากันนำอาหารไปทำบุญอุทิศผลบุญกุศลจากการทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับของตนเอง ชาวนครศรีธรรมราชจึงมีประเพณีที่ชื่อว่า ชิงเปรต เกิดขึ้นนั่นเอง
yala-105
ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเริ่มต้นขึ้นในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ วันนี้จะเรียกกันว่าเป็น วันจ่าย มีการจับจ่ายซื้อขายอาหารแห้ง พืชผัก ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นตัวแทนของงานสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับพิธีการวันรุ่งขึ้น  โดยจะจัดสิ่งของ อาหารคาวหวานและขนมสำคัญ ๕ อย่างใส่ภาชนะที่เตรียมไว้โดยวางเรียงเป็นชั้นๆ ขึ้นมา ชาวนครฯ จะเรียกกันว่าการจัดหมุรับ โดยจะเรียงข้าวสารอาหารแห้งไว้ชั้นล่างสุด ต่อจากนั้นก็จะเป็นชั้นของพืชผักที่เก็บไว้ได้นานๆ ถัดขึ้นมาจะเป็นชั้นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่วนชั้นบนสุดจะจัดเรียงขนมสำคัญ ๕ อย่าง
วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนสิบ ชาวนครจะนำหมุรับที่จัดไว้ ไปทำบุญที่วัดพร้อมกับถวายภัตตาหารไปด้วย และวันสุดท้ายของประเพณีสารทเดือนสิบ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ จะเป็นวันฉลอง ที่วัดจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ และบังสุกุล เพื่อส่งบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วกลับไปยังนรก ตามประเพณีปฏิบัติแล้ว บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับผลบุญนี้ก็ต่อเมื่อมีลูกหลานจัดฉลองหมุรับ และการบังสุกุลให้เท่านั้น
ในวันเดียวกันนี้เอง หลังจากฉลองหมุรับและถวายภัตตาหารพระภิกษุแล้ว ชาวนครฯ จะทำทานต่อด้วยการนำขนมบางส่วนไปวางไว้ตามโคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัดบ้าง  หรือวางไว้บนศาลาหรือทำเป็นศาลาสูงมีเสาเพียงต้นเดียว ในศาลาจะใส่ขนม ผลไม้ และเงิน เมื่อถึงเวลา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะวิ่งกรูกันเข้าไปที่ศาลาไม้นี้หรือแย่งกันปีนเสาที่ชโลมน้ำมันเอาไว้ การปีนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่กลายเป็นภาพความสนุกสนาน ความตื่นเต้นของผู้ยืนลุ้นเอาใจช่วยอยู่ด้านล่าง
จะเห็นได้ว่าประเพณีสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราชนั้น ไม่เพียงสอนให้คนรู้จักการเข้าวัดเข้าวาเท่านั้น ยังสอนให้คนเป็นคนกตัญญูต่อบรรพบุรุษทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและที่ยังมีลมหายใจอยู่ สอนให้รู้จักการบริจาคทาน  เปิดโอกาสให้สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมได้สานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น

ประเพณีบุญข้าวประดับดิน(ภาคอีสาน)

ประเพณีภาคอีสาน

ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
boonkaew
ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า ชาวลาวและชาวไทยอีสานจะมีงานบุญสำคัญเกิดขึ้นงานหนึ่ง เรียกกันในชื่องานบุญข้าวประดับดิน หรืองานบุญเดือนเก้า ซึ่งจะตรงกับเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะนำข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ แบ่งมาอย่างละเล็ก อย่างละน้อย ห่อใบตองเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางไว้ตามโคนไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เพื่ออุทิศกุศลให้แก่ปู่ย่าตายายญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
บุญข้าวประดับดิน
ที่ชาวลาวและชาวไทยอีสานเลือกวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้าเป็นวันทำบุญข้าวประดับดินก็สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ในคืนวันดังกล่าว ประตูนรกภูมิจะเปิดออก ภูติผีในนรกจะได้ออกมาเยี่ยมญาติพี่น้องในโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จึงจัดห่อข้าวปลาอาหารนำมาเลี้ยงดูญาติพี่น้องของตนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ความเชื่อดังกล่าวนี้มีที่มาจาก ตอนหนึ่งในพระธรรมบท ที่เล่าถึงพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ได้อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ทำให้ดวงวิญญาณญาติต่างไม่ได้รับส่วนบุญ จึงมาส่งเสียงร้องใกล้ที่ประทับ หลังทูลถามพระพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณญาติเหล่านั้นนั่นเอง
boon2
กิจกรรมหรือพิธีกรรมในวันทำบุญข้าวประดับดินนั้น จะเริ่มกันล่วงหน้า ๑ วันก่อนถึงวันงาน ในตอนเย็น จะมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรีไว้ ๔ ชุดด้วยกัน  ชุดที่หนึ่งไว้เลี้ยงดูภายในครอบครัว ชุดที่สองแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ชุดที่สามจะห่อข้าวน้อยหรือห่อใบตองขนาดเท่าฝ่ามืออุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และชุดที่สี่ เตรียมไว้ถวายพระภิกษุสงฆ์
สำหรับอาหารคาวหวานผลหมากรากไม้ที่นำมาห่อใบตอง ประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ เท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน เนื้อปลา หมู่ ไก่  กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ  หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ
27092013_17_00_16_tekhn7pfsxrah0nc64wt
หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำห่อใบตองนี้ไปวางตามโคนไม้ใหญ่ ตามริมกำแพงวัด ริมโบสถ์ เจดีย์ในวัดในช่วงเช้ามืดของวันทำบุญ และกลับไปเตรียมอาหารนำไปถวายที่วัด มีการถวายปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ รับพรจากพระสงฆ์ ชาวบ้านก็จะมากรวดน้ำ อุทิศกุศลผลบุญให้แก่บรรพบุรุษ ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
หากมองผิวเผิน งานประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว ยังถือเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้ให้ แก่ผู้ยากไร้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ต้องหิวโหย  ที่อาจจะเดินผ่านมายังบริเวณที่วางห่อข้าวน้อยนี้ไว้ตามทาง ชำระล้างความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวในจิตใจคนเราได้เป็นอย่างดี

ประเพณีบุญบั้งไฟ(ภาคอีสาน)

ประเพณีบุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม เกษตรกรจึงต้องพึ่งพาธรรมชาติในการเพาะปลูก น้ำเป็นสิ่งจำเป็นหลักในการเพาะปลูก หากปีใดน้ำไม่เพียงพอที่จะเพาะปลูก เกษตรกรจะจัดพิธีขอฝน ในแต่ละภูมิภาคมีพิธีขอฝนที่แตกต่างกัน ภาคกลางมีประเพณีแห่นางแมวขอฝน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประเพณีบุญบั้งไฟ  หนึ่งในประเพณีสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตลอดจนถึงประเทศลาวที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อมา
ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือ “งานบุญเดือนหก”  เป็นประเพณีพื้นถิ่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จัดในช่วงฤดูฝนที่เข้าสู่ฤดูทำนา อยู่ในช่วงเดือน ชาวนาชาวไร่จะทำพิธีบูชาขอฝนจากพญาแถน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวกล้าในนาไม่เสียหาย
บั้งไฟๅ
ประเพณีบุญบั้งไฟนี้มีที่มาจากตอนหนึ่งของนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ ที่ได้กล่าวถึง การจุดบั้งไฟเป็นการบูชาพพญาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ตามความเชื่อของชาวอีสาน เชื่อกันว่าพญาแถนคือเทพที่คอยดูแลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล และชอบไฟมากเป็นพิเศษ หากบ้านใดจัดงานบุญบั้งไฟขึ้นบูชา พญาแถนก็จะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ผืนดินอุดมสมบูรณ์
นอกจากจะเป็นการขอฝนแล้ว ในความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นมีอยู่ว่าการจุดบั้งไฟยังเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง  ถ้าจุดบั้งไฟแล้วลอยขึ้นสูง ทำนายได้ว่าปีนี้ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ดี
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของประเพณีขอฝนของชาวอีสานนี้ก็คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำบั้งไฟจากกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุดินปืนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้คล้ายกับจรวดซึ่งในสมัยก่อนวิทยาการยังไม่ก้าวหน้า แต่ชาวอีสานสามารถทำบั้งไฟลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
บั้งไฟ
ในวันงานประเพณีบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะนำบั้งไฟของแต่ละหมู่บ้านมาจุดแข่งกัน บั้งไฟของบ้านไหนจุดแล้วลอยสูงที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป ส่วนบั้งไฟที่ลอยต่ำที่สุดหรือแตกก่อนถือว่าแพ้ ผู้แพ้ต้องโดนลงโทษด้วยการอุ้มไปโยนลงบ่อโคลน สร้างเสียงหัวเราะบรรยากาศสนุกสนานในงาน
งานบุญบั้งไฟของชาวอีสานจึงเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการเคารพ ให้เกียรติธรรมชาติ และการฉลอง ความสนุกสนาน รื่นเริง ในวันงานจึงมีขบวนแห่บั้งไฟพร้อมนางเซิ้งนำขบวนแห่บั้งไฟ มีการประกวด แข่งขันจุดบั้งไฟ   จังหวัดที่จัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดหนองคาย

ประเพณีแข่งขันเรือยาว(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณี

IMG_0347

การแข่งขันเรือยาวประเพณี มรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่มักจัดคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญตักบาตร เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี
ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณีนี้ เป็นเกมกีฬาเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยากรุงเก่า เป็นที่นิยมเล่นกันทั้งภายในพระราชวังไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด  ดังที่มีปรากฏในกฏมณเทียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวถึงพระราชพิธีเดือน ๑๑ จะมีการแข่งเรือยาวขึ้น เพื่อเป็นการฝึกปรือกำลังพลทหารประจำกองเรือ
ส่วนการแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวบ้านทั่วไป จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นในช่วงเทศกาลทอดกฐินด ทอดผ้าป่า ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ๑๑ – ๑๒ ซึ่งจะตรงกับฤดูน้ำหลากพอดี ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะอยู่แล้ว เมื่อถึงหน้ากฐิน ผ้าป่าสามัคคีก็มักจะนิยมนำเรือมาร่วมขบวนแห่ผ้ากฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัดอยู่แล้ว หลังพิธีการทางศาสนาจบลง จะมีการแข่งเรือกันขึ้นเพื่อความสนุกสนาน

ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวพัฒนาจากการละเล่น กีฬาเชื่อมbb1ความสามัคคีของคนในชุมชนกลายเป็นเกมกีฬาระดับประเทศชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯวันนี้ กลายเป็นกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายๆ สนามแข่งขัน ตามลุ่มน้ำสำคัญในประเทศ  เช่น ประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิต การแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่าน การแข่งขันเรือยาวจังหวัดชุมพร  และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นลุ่มน้ำสำคัญในประเทศไทย
การแบ่งประเภทการแข่งขันเรือยาว จะแบ่งตามขนาดของเรือ  เรือยาวใหญ่  ๔๑ – ไม่เกิน ๕๕ ฝีพาย  เรือยาวกลาง ฝีพาย ๓๑ – ไม่เกิน ๔๐ ฝีพาย  และเรือยาวเล็กที่มีฝีพายไม่เกิน ๓๐ ฝีพาย โดยเรือจะขุดขึ้นจากต้นตะเคียนทั้งต้นโดยช่างขุดเรือที่มีฝีมือในการขุดเรือ   ส่วนระยะทางที่ใช้แข่งขัน จะมีระยะทางประมาณ ๖๐๐ – ๖๕๐ เมตร โดยจะมีทุ่นบอกระยะทุกๆ ๑๐๐ เมตร
กติกาการแข่งขันเรือยาวประเพณี ใช้ระบบแพ้คัดออก โดยจับคู่แข่งขันกัน หากเรือฝ่ายใดแข่งชนะ ๒ ครั้ง ถือว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ฝ่ายละเที่ยวก็จะต้องมาตัดสินในการแข่งเที่ยวที่ ๓
51_29777f6768784dcccd8b79ee73604f7a
จุดประสงค์สำคัญของการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี ไม่ว่าจะเป็นสนามใดก็ตาม คือ สร้างความสามัคคีของฝีพายในเรือลำเดียวกัน  ความเสียสละของฝีพายที่จะต้องขยันหมั่นซ้อมพาย ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเสน่ห์ของเกมกีฬาประเภทนี้อีกอย่างก็คือ จังหวะ ความพร้อมเพรียงในการพาย การจ้วงพายให้เร็วขึ้นเมื่อเข้าใกล้เส้นชัย กระชับ รวดเร็วแต่พร้อมเพรียงกัน การแข่งขันที่ให้คนดูได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา และการพากย์เสียงของพิธีกรประจำสนามที่ต้องยอมรับว่าสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการแข่งขันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว