วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประเพณีตักบาตรเทโว(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีตักบาตรเทโว

36_20121024130859.
ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดการอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือนของภิกษุสงฆ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้พอดี  ในทุกๆ ปี พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญ จะร่วมกันทำบุญตักบาตรโดยจัดพิธีเป็นพิเศษกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป เรียกการตักบาตรครั้งนี้ว่า ตักบาตรเทโว  หรือการถวายบาตรพระภิกษุเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นการทำบุญทำกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ บิดามารดา ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวรและเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว
คำว่า เทโว  มาจากคำว่า เทโวโรหณะ หมายถึงการเสด็จลงมาจากเทวโลกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุการณ์หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงออกประกาศพระศาสนาไปทั่วชมพูทวีป เสด็จไปโปรดเทศนาพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายจนได้ดวงตาเห็นธรรมตามสมควร คงเหลือแต่พระนางสิริมหามายา พุทธมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปหลังจากที่มีพระประสูติกาลได้ ๗ วัน องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงดำริจะที่จะขึ้นไปเทศนาแสดงธรรมโปรดแด่พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเป็นการสนองพระคุณ เป็นเวลา ๑ พรรษา ในพรรษาที่ ๗ หลังจากที่ทรงตรัสรู้ และเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษยในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เมื่อเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปีศาจ อสูรกาย ประชาชนทราบข่าวการเสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ จึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ รออยู่ที่เชิงบันไดเพื่อถวายบาตรแด่พระองค์กันอย่างเนื่องแน่น
163993
วัดแต่ละวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปที่คนในชุมชนเคารพนับถือขึ้นประดิษฐานบุษบก พร้อมกับวางบาตรไว้ด้านหน้า จัดเป็นขบวนแห่นำหน้าแถวพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เพื่อรับบาตรจากญาติโยมทั้งหลาย บางวัดที่มีพระพุทธบาทจำลองอยู่บนเขา พระภิกษุสงฆ์จะเดินลงมาตามบันไดเชิงขาเพื่อรับบาตร เสมือนเหตการณ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาทางบันไดเชิงเขา
มีการจัดถวายภัตตาหารคาวหวาน ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกบัว ข้าวต้มโยน เนื่องจากในครั้งสมัยพุทธกาล มีประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นจำนวนมากทำให้ไม่สามารถใส่บาตรถึงตัวพระองค์ได้ จึงพากันอธิษฐานแล้วใส่บาตรแทน ซึ่งด้วยศรัทธาตั้งใจจริงทำให้อาหารที่โยนมานั้นตกลงในบาตรของพระพุทธองค์ได้พอเหมาะพอดี
img03342-20111013-1535
นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่กล่าวถึงในพุทธประวัติสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย นั่นคือ ข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) หรือข้าวที่กวนกับน้ำผึ้ง  โดยข้าวทิพย์นี้จะประกอบพิธีกวนขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนวันออกพรรษา ๑ วัน โดยจะต้องให้เด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน ๔ คน นุ่งขาว ห่มขาว ทำหน้าที่กวนข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์นี้ตามตำนานความเชื่อกล่าวไว้ว่า นางสุชาดาคือผู้ริเริ่มการปรุงข้าวมธุปายาสมาถวายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปีศาจ อสูรกาย ได้รวมตัวกันประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อแจกจ่ายให้ได้นำไปถวายบาตรแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนและวัดที่จะรวมกันจัดพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อใช้ในการตักบาตรในวันตักบาตรเทโวนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น