ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า ชาวลาวและชาวไทยอีสานจะมีงานบุญสำคัญเกิดขึ้นงานหนึ่ง เรียกกันในชื่องานบุญข้าวประดับดิน หรืองานบุญเดือนเก้า ซึ่งจะตรงกับเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะนำข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ แบ่งมาอย่างละเล็ก อย่างละน้อย ห่อใบตองเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางไว้ตามโคนไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เพื่ออุทิศกุศลให้แก่ปู่ย่าตายายญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
ที่ชาวลาวและชาวไทยอีสานเลือกวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้าเป็นวันทำบุญข้าวประดับดินก็สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ในคืนวันดังกล่าว ประตูนรกภูมิจะเปิดออก ภูติผีในนรกจะได้ออกมาเยี่ยมญาติพี่น้องในโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จึงจัดห่อข้าวปลาอาหารนำมาเลี้ยงดูญาติพี่น้องของตนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ความเชื่อดังกล่าวนี้มีที่มาจาก ตอนหนึ่งในพระธรรมบท ที่เล่าถึงพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ได้อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ทำให้ดวงวิญญาณญาติต่างไม่ได้รับส่วนบุญ จึงมาส่งเสียงร้องใกล้ที่ประทับ หลังทูลถามพระพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณญาติเหล่านั้นนั่นเอง
กิจกรรมหรือพิธีกรรมในวันทำบุญข้าวประดับดินนั้น จะเริ่มกันล่วงหน้า ๑ วันก่อนถึงวันงาน ในตอนเย็น จะมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรีไว้ ๔ ชุดด้วยกัน ชุดที่หนึ่งไว้เลี้ยงดูภายในครอบครัว ชุดที่สองแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ชุดที่สามจะห่อข้าวน้อยหรือห่อใบตองขนาดเท่าฝ่ามืออุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และชุดที่สี่ เตรียมไว้ถวายพระภิกษุสงฆ์
สำหรับอาหารคาวหวานผลหมากรากไม้ที่นำมาห่อใบตอง ประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ เท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน เนื้อปลา หมู่ ไก่ กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ
หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำห่อใบตองนี้ไปวางตามโคนไม้ใหญ่ ตามริมกำแพงวัด ริมโบสถ์ เจดีย์ในวัดในช่วงเช้ามืดของวันทำบุญ และกลับไปเตรียมอาหารนำไปถวายที่วัด มีการถวายปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ รับพรจากพระสงฆ์ ชาวบ้านก็จะมากรวดน้ำ อุทิศกุศลผลบุญให้แก่บรรพบุรุษ ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
หากมองผิวเผิน งานประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว ยังถือเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้ให้ แก่ผู้ยากไร้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ต้องหิวโหย ที่อาจจะเดินผ่านมายังบริเวณที่วางห่อข้าวน้อยนี้ไว้ตามทาง ชำระล้างความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวในจิตใจคนเราได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น