ประเพณีในภาคใต้
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีการแห่ผ้าผืนยาวขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์
วัดพระมหาธาตุวรวิหารของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช
เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วคน
ด้วยความเชื่อที่ว่าการห่มผ้ารอบองค์พระบรมธาตุ เปรียบกับได้การบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เดิมทีชาวนครศรีธรรมราชจะร่วมกันบริจาคเงินทองเพื่อซื้อผ้ามาเย็บเป็นผ้าผืนยาวเพื่อห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์
สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวนครศรีธรรมราชที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจ
สำหรับกำหนดการแห่ผ้าขึ้นธาตุ
จัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
หรือวันวิสาขบูชา
โดยจะมีการเตรียมผ้าสำหรับห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์
ในอดีตผ้าที่ใช้ห่มจะเรียกว่าผ้าพระบฎ ซึ่งเป็นผ้าที่มีการเขียนเรื่องราวพุทธประวัติเอาไว้อย่างสวยงาม
แต่ปัจจุบันการทำผ้าพระบฎนั้นหาคนทำยากและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ผ้าขาว
ผ้าย้อมฝาด ผ้าแดง แทน ส่วนขนาดของผ้านั้นก็ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
พิธีการแห่ผืนห่มธาตุ
ในสมัยก่อนเจ้าผู้ครองนครและทายาทจะเป็นผู้ทำหน้าที่แห่ โดยจะมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน
เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
จัดรูปขบวนสวยงามหาบคอนไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
มีนำกล่าวคำถวายผ้าพระบฎก่อน จากนั้นก็จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓
รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทางม้า นำผ้าพระบฎขึ้นโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์
แต่เนื่องจากปัจจุบันพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในการแห่ผ้าขึ้นธาตุมาจากหลากหลายที่
ทำให้พิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุเกิดขึ้นไม่พร้อมเพรียงกัน
เพื่อความสะดวกจึงมีการแห่ผ้าตามสะดวกไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นพิธีเดียวกัน
และปัจจุบันคงเหลือแต่พิธีการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเท่านั้น
ส่วนขบวนแห่ต่างๆ ได้งดเว้นไปแล้ว และการห่มผ้าอนุญาตให้ส่งตัวแทนขึ้นไป ๓-๔
คนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางวัดเท่านั้น
ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุสืบเนื่องมาจากสมัยพญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุทำพิธีวิสาขะสมโภชพระบรมธาตุหลังบูรณะ
มีตำนาเล่าขานกันว่า ก่อนเริ่มพิธีสมโภชไม่กี่วัน
คลื่นทะเลได้ซัดผ้าแถบผืนหนึ่งขึ้นฝั่งมา
บนผ้ามีลายเขียนเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ซึ่งเรียกกันว่าผ้าพระบฎ
พญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุจึงประกาศหาเจ้าของ
จนพบว่าผ้าผืนดังกล่าวเป็นของชาวเมืองอินทรปัตรซึ่งอยู่แถวลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร
นำลงเรือหวังจะไปบูชาพระทันตธาตุ พระเขี้ยวแก้วที่ลังกา
แต่เรือโดนมรสุมแตกลงที่หน้าเมืองนครศรีธรรมราช
หัวหน้าคณะได้จมน้ำเสียชีวิตไปก่อนเหลือแต่ลูกเรือรอดขึ้นฝั่งมาได้
พญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุจึงมีดำริให้มีขบวนแห่ผ้าพระบฎผืนนั้น ขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุ
และอุทิศกุศลผลบุญให้แก่หัวหน้าคณะในคราวเดียวกัน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวนครศรีธรรมราชจึงจัดให้มีประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประจำทุกปีที่จะต้องปฏิบัติสืบทอดจนกลายเป็นพิธีกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น