วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประเพณีลอยกระทง(ภาคกลาง)

ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทง
คนไทยเราผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สายน้ำเป็นทั้งแหล่งบริโภค อุปโภค การเพาะปลูก ประกอบกับคนไทยในอดีตจะตั้งบ้านเรือนใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ ทำให้คนไทยผูกพันกับสายน้ำอย่างแยกไม่ออก และเป็นที่มาของคติความเชื่อเกี่ยวกับสายน้ำหลายประการด้วยกัน
ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คืนที่พระจันทร์สว่างเต็มดวง สายน้ำหลากปริ่มตลิ่ง พร้อมกับแสงเทียนจากกระทงประดับดอกไม้ ธูปเทียนสว่างไสวอยู่ตามลำน้ำ เป็นช่วงเวลาของประเพณีสำคัญของสายน้ำอีกประเพณีหนึ่ง ประเพณีลอยกระทง
เนื่องด้วยประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่า คติความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ จึงแตกต่างกันไป
แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงหลายความเชื่อ อาทิ การลอยกระทงเป็นพิธีรับเสด็จพระพุทธองค์กลับลงมาจากสวรรค์หลังเสด็จไปโปรดพุทธมารดา บูชารอยพระพุทธบาท บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  บางก็เชื่อว่าบูชาพระอุปคุตเถระ หรือเป็นการบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อ แสดงความขอบคุณแม่พระคงคาที่ให้น้ำแก่มนุษย์ได้ดื่มกิน อุปโภค บริโภคและขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป หรือบางแห่งก็เชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศกทิ้งไป ดังจะเห็นได้จากที่มักจะมีการตัดเศษผม เศษเล็กใส่ไปกับกระทงด้วย
จะเห็นว่าแต่ละคติความเชื่อที่กล่าวมาต่างก็มีจุดประสงค์คล้ายกัน คือ การแสดงเคารพ ความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ พระพุทธเจ้า เทพเจ้า แม่พระคงคา บรรพชน  แม้แต่ธรรมชาติ  และแสดงความระลึกถึงด้วยสิ่งสักการะดอกไม้ ธูปเทียน
กระทง
ส่วนที่ว่าทำไมกระทงจะต้องเป็นรูปดอกบัว เนื่องจากประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาครั้งโบราณแต่ไม่ปรากฏว่าเริ่มมาแต่เมื่อไหร่ ที่พอใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้คือหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษร์หรือตำนานนางนพมาศ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วงแห่งสุโขทัย จะเสด็จประพาสทางน้ำ มีรับสั่งให้พระสนมนางในทั้งหลายประดิษฐ์กระทงดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยหน้าพระที่นั่ง  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จึงประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น เนื่องจากเป็นดอกบัวที่บานในเวลากลางคืนและบานแค่ปีละครั้ง ควรค่าแต่งเป็นกระทงลอยเพื่อไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท   พระมหาธรรมราชาลิไทยจึงทรงมีพระราชดำรัสให้ กษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะต้องเสด็จมาลอยโคมดอกบัวเพื่อถวายสักการะต่อพระพุทธบาทสืบไป ด้วยเหตุนี้ กระทงที่ใช้ลอยจึงมีหน้าตาคล้ายดอกบัวนั่นเอง
ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไปบ้าง แต่ยังคงรูปแบบประเพณีดั่งเดิมไว้ จากเดิมที่กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้รอบตัว เช่น หยวกกล้วย หรือดอกบัว มาในยุคหนึ่งกระทงได้กลายเป็นกระทงโฟมซึ่งหลังจากลอยไปแล้ว กระทงโฟมไม่ย่อยสลายได้เอง กลายเป็นขยะตามแม่น้ำลำคลอง สร้างปัญหาขยะ ต่อมาจึงมีการรณรงค์ให้กลับมาใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น กระทงขนมปังที่สามารถกลายเป็นอาหารของปลาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น